การป้องกันโรคพิษสุนับบ้า

องค์การบริหารส่วนตำบลมุจลินท์ ขอประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  ประจำปี 2565  ดังนี้ 

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
  • ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคพิษสุนัขบ้าในคนนิยมเรียก โรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) ส่วนในภาษาอีสานเรียก โรคหมาว้อ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต พบในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าและยังติดต่อมาสู่มนุษย์ พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุดสู่มนุษย์ และสัตว์อื่นๆ คือ สุนัข รองลงมาคือแมว ในบ้านเรานั้นมีรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ในโคปีละประมาณ 60 ตัว ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับที่พบในยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งมีนับล้านตัวในแต่ละปี พาหะนำเชื้อที่สำคัญในบ้านเราคือ สุนัขพบได้ประมาณร้อยละ 95 แมวร้อยละ 4 สัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ สุกร ม้า และสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมราวร้อยละ 1 สำหรับในแถบประเทศละตินอเมริกานั้น พบพาหะที่สำคัญคือค้างคาวดูดเลือด (Vampire bat) ซึ่งเป็นสาเหตุให้โคตายปีละนับแสนตัว สาเหตุและการติดต่อ เกิดจาก Rabies virus ซึ่งเป็น RNA virus รูปร่างคล้ายกระสุนปืน ปลายด้านหนึ่งโค้งมนและปลายอีกด้านหนึ่งตัดตรงถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การติดเชื้อที่สำคัญที่สุดคือการถูกสัตว์เป็นบ้ากัด เมื่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกายโดยการถูกกัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าแผลรอยขีดข่วน เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือการปลูกถ่ายกระจกตา จากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เชื้อจะยังคงอยู่บริเวณนั้นระยะหนึ่ง โดยเพิ่มจำนวนในกล้ามเนื้อ ก่อนจะเดินทางผ่านเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลาย ไขสันหลัง และเข้าสู่สมอง มีการแบ่งตัวในสมอง พร้อมทำลายเซลล์สมอง และปล่อยเชื้อกลับสู่ระบบขับถ่ายต่างๆ เช่น ต่อมน้ำลาย น้ำปัสสาวะ น้ำตา ตามแขนงประสาทต่างๆ ทำให้เกิดอาการ บางรายเกิดอาการช้านานเกิน 1 ปี บางรายเกิดอาการเร็วเพียง 4 วันเท่านั้น แต่โดยเฉลี่ย 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
    • จำนวนเชื้อที่เข้าไป บาดแผลใหญ่ ลึก หรือมีหลายแผล มีโอกาสที่เชื้อจะเข้าไปได้มาก
    • ตำแหน่งที่เชื้อเข้าไป ถ้าอยู่ใกล้สมองมาก เชื้อก็จะเดินทางไปถึงสมองได้เร็ว ถ้าน้ำลายถูกผิวหนังปกติ ไม่มีรอยข่วนหรือบาดแผล ไม่มีโอกาสติดโรค การติดต่อโดยการหายใจ มีโอกาสน้อยมาก ยกเว้นมีจำนวนไวรัสในอากาศเป็นจำนวน มาก เช่น ในถ้ำค้างคาวนอกจากนั้นติดต่อจากการกินได้ ถ้ามีบาดแผลภายในช่องปากและหลอดอาหาร ซึ่งจะพบกรณีสัตว์กินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายใหม่ๆ
    • อายุคนที่ถูกกัด เด็กและคนชราจะมีความต้านทานของโรคต่ำกว่าคนหนุ่มสาว
    • ความรุนแรงของเชื้อ เชื้อจากสัตว์ป่าอันตรายกว่าสัตว์เลี้ยง สุนัขและแมวที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนแสดงอาการ เพราะ เชื้อจะออกมาในน้ำลายเป็นระยะ ๆ ประมาณ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการ
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=25

(แหล่งข้อมูลจาก  กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข)